คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๒๐-๒๗๒๑/๒๕๖๖

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2720 - 2721/2566

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดผู้ร้อง
นาง พ. กับพวกผู้คัดค้าน

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 วรรค หนึ่ง (9)

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้มีความผิดมูลฐานเพื่อกำหนดประเภทของความผิดอาญาที่นำมาใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อบุคคลที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อทรัพย?สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และดำเนินการทางแพ่งร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น หาได้บัญญัติความผิดมูลฐานขึ้นมาเป็นฐานความผิดใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเหมือนดังเช่นความผิดอาญาทั่วไปไม่ ดังนั้น การพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานจึงไม่จำต้องพิจารณาแยกเป็นรายกรรมเหมือนความผิดอาญาทั่วไป แต่ต้องพิจารณาตามบทนิยามของความผิดมูลฐานนั้น ๆ เมื่อความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ได้กำหนดองค์ประกอบของความผิดในส่วนวงเงินในการกระทําความผิดเพียงว่า มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป โดยมิได้ระบุว่าเป็นวงเงินในการกระทำความผิดแต่ละครั้ง จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานในส่วนดังกล่าวจากวงเงินในการเล่นการพนันที่จัดให้มีขึ้นทั้งหมด หากจัดให้มีการเล่นการพนันหลายครั้งต่อเนื่องกันก็ต้องพิจารณาจากวงเงินในการเล่นการพนันทุกครั้งรวมกัน

บ่อนการพนันทั้งสามแห่งจัดให้มีการเล่นการพนันหมุนเวียนกัน เปิดให้เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน มีนักพนันหมุนเวียนกันเข้ามาเล่น บางช่วงเวลาถึงกับต้องรอคิวที่จะเล่น โดยเปิดให้เล่นการพนันประเภทไพ่ป๊อกบ่อนละประมาณ 2 ถึง 5 โต๊ะ มีตั้งแต่โต๊ะที่เปิดให้เล่นในราคา 50 บาท 100 บาท 200 บาท 500 บาท 1,000 บาท และ 2,000 บาท หากมีผู้เล่นจำนวนมากก็จะเปิดโต๊ะพนันเพิ่ม การเล่นใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ต่อตา ผู้เล่นสามารถแทงกับเจ้ามือกี่คนก็ได้ ในการเล่นแต่ละตาหากเป็นโต๊ะ 100 บาท จะมีเงินสะพัดประมาณ 10,000 บาท หากโต๊ะใหญ่ขึ้นจะมีเงินสะพัดประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ประกอบกับได้ความว่าทางบ่อนยังรับจำนำทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เข้าเล่นที่เสียการพนันจนหมดเพื่อนำเงินไปเล่นต่อ โดยในวันเข้าตรวจค้นเจ้าพนักงานสามารถยึดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำได้ถึง 63 ดอก แสดงว่าบ่อนทั้งสามแห่งมีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังได้ความจาก ธ. ว่าเป็นหนี้การพนันค้างชำระผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนมาก จึงโอนที่ดินสี่แปลงพร้อมอาคารสี่ชั้นตีราคาใช้หนี้การพนันประมาณ 15,000,000 บาท คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นมาตรการทางแพ่ง การพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดมูลฐานต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องหาจำต้องนำสืบถึงขนาดให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยเหมือนดังเช่นคดีอาญาไม่ เมื่อพิจารณาจำนวนหนี้การพนันของ ธ. ที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบพฤติการณ์ที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งเป็นบ่อนการพนันที่มีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูงและเปิดให้เล่นการพนันต่อเนื่องกันมาหลายครั้งเป็นเวลานานหลายปีแล้ว พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9)

___________________________

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตามลำดับ และเรียกผู้คัดค้านที่ 3 สำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 3

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนัน คือ เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป และได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เปิดให้มีการเล่นการพนันมาตั้งแต่ปี 2548 กรณีปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามประเภททองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ พระเลี่ยมทองคำ งาแกะเลี่ยมทองคำ พระเนื้อต่าง ๆ เครื่องประดับทองคำขาว เหรียญที่ระลึก จตุคาม เหรียญกษาปณ์ ธนบัตรไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่ นาฬิกาข้อมือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดินและสิทธิการรับจำนองที่ดิน รวมทั้งเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารต่าง ๆ รวม 344 รายการ และ 4 รายการ ในสำนวนแรกและสำนวนหลัง ราคาประเมิน 92,239,901.87 บาท และ 2,054,000 บาท ตามลำดับ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว

ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่าขอให้ยกคำร้อง

ระหว่างไต่สวน นางรวงทิพย์ยื่นคำคัดค้านไม่ให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินท้ายคำร้องในสำนวนแรก ลำดับที่ 66 ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมานางรวงทิพย์ขอถอนคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก รายการที่ 1 ถึง 9, 16, 26, 32 ถึง 71, 73 ถึง 87, 94 ถึง 117, 124 ถึง 153, 160 ถึง 165, 178 ถึง 228, 230, 231, 244 ถึง 279, 281 ถึง 313, 315 ถึง 321, 323 ถึง 330, 339 ถึง 344 และทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง รายการที่ 3 และ 4 ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คืนทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก รายการที่ 10 ถึง 15, 27 ถึง 31, 88 ถึง 93, 118 ถึง 123, 154 ถึง 159, 166 ถึง 177, 229, 232 ถึง 243, 280, 314, 322, 331 ถึง 336 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 คืนทรัพย์สินรายการที่ 72, 337 และ 338 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเดียวกันให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และคืนรถจักรยานยนต์ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง รายการที่ 1 และ 2 แก่ผู้คัดค้านที่ 2 โดยให้ถือเอาบัญชีรายการทรัพย์สินทั้งสองสำนวนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฉบับนี้ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องบรรยายว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ที่ให้หมายความว่า การเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการตรวจค้นอาคารทั้งสามแห่งในคดีนี้ กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นความผิดมูลฐานที่จะร้องขอให้ทรัพย์สินที่ยึดตกเป็นของแผ่นดิน พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่ง มติของคณะกรรมการธุรกรรมที่เชื่อว่าทรัพย์สินตามที่ตรวจสอบและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ต้องพิจารณาตามบทนิยามของกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและเลขาธิการส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่าในขณะดังกล่าวทรัพย์สินที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ การที่ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป จึงเป็นการบรรยายคำร้องตามบทนิยามความผิดมูลฐานของมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว พิพากษากลับ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ในปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 10 ถึง 15 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก และให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 26, 34, 36 ถึง 38, 178 ถึง 228, 303 ถึง 313, 315 ถึง 321 และ 323 ถึง 330 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น กับทรัพย์สินรายการที่ 4 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 กับให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 2, 3, 10 ถึง 12 และ 19 ถึง 25 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แต่ให้ทรัพย์สินรายการที่ 13 ถึง 15, 17 และ 18 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 เข้าตรวจค้นอาคารที่สืบทราบว่ามีการจัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก รวม 3 แห่ง โดยวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ตรวจค้นบ้านเลขที่ 26/1 เป็นบ้านพักไม้สองชั้น พบไพ่พลาสติก 186 สำรับ มีนายสุรชัยและนางศศิอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้าน วันที่ 7 มิถุนายน 2557 ตรวจค้นอาคารเลขที่ 289/4 ด้านหน้าเป็นบ้านชั้นเดียว ด้านหลังมีทางเชื่อมต่อไปยังโกดัง พบไพ่ป๊อก 4 สำรับ กับแผ่นพลาสติก (ชิป) 33 แผ่น มีนายพิษณุแสดงตัวเป็นผู้ครอบครองบ้าน โดยอ้างว่าเป็นบ้านของพี่ชายตน และวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ตรวจค้นโรงแรม จ. ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของ พบนางกานต์สิรี พนักงานของโรงแรมดังกล่าว ขับรถยนต์จะออกจากโรงแรม ตรวจค้นภายในรถพบกุญแจรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 16 ดอก กุญแจประตู 14 อัน ชิปวงกลมสำหรับใช้เล่นการพนันพื้นสีแดงมีหมายเลข 50 อัน ชิปวงกลมสำหรับใช้เล่นการพนันพื้นสีเหลืองมีหมายเลข 49 อัน เหรียญพลาสติกสีต่าง ๆ สำหรับใช้เล่นการพนัน 40 อัน แผ่นพลาสติกสีเขียว สีส้ม สีเหลืองทรงสี่เหลี่ยม 13 อัน ลูกเต๋า 3 ลูก ไพ่ป๊อก 4 สำรับ กุญแจรถยนต์ 1 ดอก และอื่น ๆ ตรวจค้นห้องพักคนงานของโรงแรม พบกุญแจรถจักรยานยนต์ 63 ดอก สมุดเงินฝากธนาคาร 1 เล่ม ไพ่ป๊อก 4 สำรับ กุญแจรถยนต์ 1 ดอก พระเครื่อง 1 องค์ ใบซื้อ-ขายฝากทองคำ 1 ฉบับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ 1 แผ่น และอื่น ๆ ตรวจค้นรถยนต์ของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้คัดค้านที่ 1 ที่จอดอยู่ในโรงแรม พบทองคำแท่งน้ำหนักแท่งละ 1 บาท 27 แท่ง พระเครื่องกรอบสีทอง 9 องค์ สร้อยคอสีทองพร้อมพระเครื่องกรอบสีทอง 2 องค์ สร้อยสีทอง 6 เส้น สร้อยสีเงินพร้อมพระเครื่อง 1 เส้น กำไลข้อมือสีขาว 2 วง กำไลข้อมือสีทอง 6 วง แหวนสีขาว 2 วง และแหวนสีทอง 5 วง อยู่ในกระเป๋าสะพาย และตรวจค้นห้องพักในโรงแรมซึ่งเป็นห้องพักไม่มีหมายเลขอยู่ตรงข้ามกับห้องพักหมายเลข 101 โดยมีผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นผู้ดูแลโรงแรมนำตรวจค้น พบสมุดบัญชีธนาคารต่าง ๆ 10 เล่ม ทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์อย่างละเล่ม ตู้นิรภัย 1 ใบ กระเป๋าเอกสาร 1 ใบ ภายในมีโฉนดที่ดิน 45 ฉบับ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง กล่องสีแดงภายในมีสร้อยคอทองคำ 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ นาฬิกา 1 เรือน กระเป๋าสตางค์ 2 ใบ ภายในมีเงินสด 18,520 บาท และ 45,500 บาท เงินสดอยู่ข้างเตียงนอน 10,000 บาท และกระเป๋าหนังภายในมีเงินสด 70,920 บาท และอื่น ๆ ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจเปิดตู้นิรภัย พบเงินสด 26,000 บาท พระเครื่องกรอบสีทอง 71 องค์ แหวนสีเงิน 5 วง แหวนสีทองหัวแก้วสีขาวและสีอื่น 30 วง ต่างหูสีทอง 3 ชิ้น จี้สีทอง 3 ชิ้น แก้วสีฟ้า 1 ชิ้น กำไลสีทองฝังแก้วคล้ายเพชร 1 วง กำไลสีเงิน 2 วง สร้อยข้อมือสีทอง 1 เส้น สร้อยข้อมือสีมุก 1 เส้น กำไลหยก 1 วง เข็มขัดสีทอง สร้อยคอสีดำ สร้อยข้อมือสีทองน้ำหนักรวมประมาณ 3,544.4 กรัม และเงินเหรียญประมาณ 4,000 บาท พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานฟอกเงิน และมีหนังสือรายงานต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พนักงานอัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 แต่คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมีมติมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ระหว่างตรวจสอบคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวหลายรายการ อาทิ ทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ พระเครื่องเนื้อทองคำ พระเครื่องเลี่ยมทองคำ ธนบัตรไทย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารต่าง ๆ ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 และครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้ว กรณีปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามรวม 344 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนแรก รวมราคาประเมิน 92,239,901.87 บาท และรวม 4 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินในสำนวนหลัง รวมราคาประเมิน 2,054,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า มีการจัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไปหรือไม่ เห็นว่า พยานผู้ร้องเบิกความถึงลักษณะและวิธีการเล่นรวมทั้งสถานที่ที่เข้าไปเล่นการพนันอย่างละเอียดสอดคล้องต้องกัน หากพยานไม่ได้เข้าไปเล่นจริงก็ไม่น่าจะเบิกความในรายละเอียดได้เช่นนั้น ส่วนที่พยานเบิกความเกี่ยวกับจำนวนโต๊ะและราคาที่เปิดให้เล่นในแต่ละโต๊ะแตกต่างกันไปบ้าง น่าจะเป็นเพราะพยานเหล่านั้นไปเล่นคนละวันกันข้อแตกต่างดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นพิรุธ โดยเฉพาะพยานปากนายอนุสรณ์ นางนันทพร นางชุติมา นางมาริสา และนางนิตยา ยังได้จำนำรถจักรยานยนต์ไว้ที่บ่อนบ้านเลขที่ 289/4 และบ่อนบ้านเลขที่ 26/1 ซึ่งภายหลังเจ้าพนักงานยึดกุญแจรถคันที่จำนำได้จากโรงแรม จ. ยิ่งสนับสนุนคำเบิกความของพยานดังกล่าวที่ยืนยันถึงการเข้าไปเล่นการพนันให้หนักแน่นขึ้นไปอีก จึงเชื่อว่าพยานผู้ร้องเบิกความเกี่ยวกับการเล่นการพนันที่เกิดขึ้นตามที่ได้พบเห็นมาจริง เหตุที่ในวันตรวจค้นเจ้าพนักงานไม่พบการเล่นการพนันนั้น น่าจะเป็นเพราะเจ้าพนักงานได้ตรวจค้นบ่อนการพนันที่อาคารข้างโรงแรม ล. และที่โรงแรม อ. ในพื้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2557 ก่อนการตรวจค้นบ่อนการพนันทั้งสามแห่งในคดีนี้ 2 ถึง 5 วัน ย่อมทำให้ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันไหวตัวและขนย้ายอุปกรณ์ที่ใช้เล่นการพนันออกจากบ่อนการพนันทั้งสามแห่งซึ่งอยู่ในท้องที่เดียวกันตั้งแต่ก่อนที่เจ้าพนักงานเข้าไปตรวจค้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันตรวจค้นเจ้าพนักงานยังยึดได้ไพ่ป๊อก 4 สำรับ กับแผ่นพลาสติก (ชิป) 33 แผ่น ที่บ้านเลขที่ 289/4 ยึดได้ไพ่พลาสติก 186 สำรับ ที่บ้านเลขที่ 26/1 และยึดได้กุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำ 63 ดอก ที่ห้องพักคนงานในโรงแรม จ. นอกจากนี้ยังยึดกุญแจรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 16 ดอก ชิปวงกลมพื้นสีแดง 50 อัน ชิปวงกลมพื้นสีเหลือง 49 อัน เหรียญพลาสติกสีต่าง ๆ 40 อัน แผ่นพลาสติกสีเขียว สีส้ม สีเหลืองทรงสี่เหลี่ยม 13 อัน ลูกเต๋า 3 ลูก ไพ่ป๊อก 4 สำรับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เล่นการพนันในบ่อนได้จากในรถยนต์ของนางกานต์สิรี พนักงานของโรงแรม จ. ขณะจะขับออกจากโรงแรม สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานผู้ร้อง ที่นางกานต์สิรีเบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านทั้งสามว่า สิ่งของที่เจ้าพนักงานตรวจยึดเป็นของเพื่อนชื่อเมย์ซึ่งลืมไว้ในรถยนต์ที่ขอยืมจากนางกานต์สิรีไปขนของย้ายห้องนั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งในชั้นสอบสวนนางกานต์สิรีให้การว่าตนเป็นลูกค้าที่มาสอบถามห้องพักแต่ห้องพักเต็มจึงขับรถออกไป อันเป็นการบิดเบือนความจริงเพื่อไม่ให้เชื่อมโยงไปถึงโรงแรม จ. ที่ตนเองทำงานอยู่ คำเบิกความของนางกานต์สิรีจึงไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานผู้ร้องรับฟังได้ว่า มีการจัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งโดยไม่ได้รับอนุญาตหลายครั้งตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องมาถึงปี 2557 ก่อนเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้น สำหรับผู้จัดให้มีการเล่นการพนันนั้น พยานผู้ร้องที่จำนำรถจักรยานยนต์ที่บ่อนการพนันเบิกความว่า ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันคือเจ๊เบี้ยว ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผู้คัดค้านที่ 1 แม้พยานเหล่านั้นจะไม่ยืนยันว่าเจ๊เบี้ยวคือผู้คัดค้านที่ 1 แต่พยานผู้ร้องปากนางสาวธมนพัชร์ นางธนธิปหรือธันยพร และนางกมลวรรณ ซึ่งรู้จักผู้คัดค้านที่ 1 มาก่อน และมีโอกาสพูดคุยกับผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวกับการเข้าไปเล่นการพนันที่บ่อนดังกล่าว เบิกความยืนยันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันที่บ่อนการพนันทั้งสามแห่ง โดยไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสามปากมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านที่ 1 มาก่อน คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ยังได้ความจากนางยุพินพยานผู้ร้องว่า พยานเคยไปเล่นการพนันที่บ่อนบ้านคลอง แต่ถูกผู้คัดค้านที่ 1 จับได้ว่าพยานสับเปลี่ยนไพ่ จึงยึดรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพยานไว้เป็นประกัน พยานไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในข้อหากรรโชกทรัพย์ สอดคล้องกับสำเนาบันทึกคำให้การของพยานในฐานะผู้กล่าวหาในคดีดังกล่าว โดยได้ความเพิ่มเติมจากพันตำรวจเอกสามารถ พยานผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีกรรโชกทรัพย์ตอบทนายผู้คัดค้านทั้งสามถามค้านว่า คดีดังกล่าวพยานสอบปากคำนายเอกราช นายเอกราชให้การว่าเป็นลูกน้องของเจ๊เบี้ยวหรือผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนการพนันเลขที่ 26/1 และสอบปากคำผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ต้องหา ผู้คัดค้านที่ 1 ให้การว่านางยุพินเล่นการพนันโกงสับเปลี่ยนไพ่ ความข้อนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านทั้งสามถามติงยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุกรรโชกทรัพย์ ผู้คัดค้านที่ 1 ไปที่เกิดเหตุจริง เจือสมกับคำเบิกความของนางยุพิน เพียงแต่บ่ายเบี่ยงเป็นว่านายสราวุธโทรศัพท์บอกให้ไปดูนางยุพินว่าเกิดอะไรขึ้น คำเบิกความของนางยุพินจึงเชื่อถือได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ดังที่ได้ความจากนางยุพินชี้ชัดว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเล่นการพนันที่บ่อนบ้านเลขที่ 26/1 หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบ่อนบ้านคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานยึดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่ผู้เล่นการพนันจำนำไว้ที่บ่อนบ้านเลขที่ 289/4 และบ่อนบ้านเลขที่ 26/1 ได้จากห้องพักคนงานในโรงแรม จ. จำนวนมาก หากผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบ่อนการพนันดังกล่าวย่อมไม่มีเหตุที่จะนำกุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำมาเก็บไว้ที่โรงแรมของผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันและไม่ได้จัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ทั้งสามแห่งนั้น คงมีแต่ผู้คัดค้านทั้งสามเบิกความลอย ๆ และนางกานต์สิรีซึ่งเบิกความเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ที่นายสุรชัย สามีนางศศิ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 26/1 เบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านทั้งสามว่า ไม่รู้จักผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าว ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยังขัดกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ยอมรับว่าได้ไปที่บ้านเลขที่ 26/1 ในวันเกิดเหตุกรรโชกทรัพย์นางยุพินในปี 2551 คำเบิกความของนายสุรชัยจึงไม่น่าเชื่อถือ พยานปากอื่นของผู้คัดค้านทั้งสามนอกจากนี้ก็ล้วนแต่อ้างเพียงว่าพยานไม่เคยทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวข้องกับการเล่นการพนันเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อนำสืบที่เลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือเช่นกัน พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานผู้คัดค้านทั้งสาม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันในสถานที่ที่เจ้าพนักงานตรวจค้นทั้งสามแห่ง ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในทำนองว่า คำนวณจำนวนเงินที่เล่นการพนันตามคำเบิกความของพยานผู้ร้องแล้ว ในการเล่นแต่ละครั้งมีวงเงินไม่ถึงห้าล้านบาท นั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน บัญญัติให้ความผิดมูลฐานตามอนุมาตรานี้หมายความว่า “ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว?าด?วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป?นผู?จัดให?มีการเล?นการพนันโดยไม?ได?รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต?ห?าล?านบาทขึ้นไป หรือเป?นการจัดให?มีการเล?นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์” เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้มีความผิดมูลฐานเพื่อกำหนดประเภทของความผิดอาญาที่นำมาใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อบุคคลที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อทรัพย?สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และดำเนินการทางแพ่งร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น หาได้บัญญัติความผิดมูลฐานขึ้นมาเป็นฐานความผิดใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดเหมือนดังเช่นความผิดอาญาทั่วไปไม่ ดังนั้น การพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานจึงไม่จำต้องพิจารณาแยกเป็นรายกรรมเหมือนความผิดอาญาทั่วไป แต่ต้องพิจารณาตามบทนิยามของความผิดมูลฐานนั้น ๆ เมื่อความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ได้กำหนดองค์ประกอบของความผิดในส่วนวงเงินในการกระทำความผิดเพียงว่า มีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค?าตั้งแต?ห?าล?านบาทขึ้นไป โดยมิได้ระบุว่าเป็นวงเงินในการกระทำความผิดแต่ละครั้ง จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดมูลฐานในส่วนดังกล่าวจากวงเงินในการเล่นการพนันที่จัดให้มีขึ้นทั้งหมด หากจัดให้มีการเล่นการพนันหลายครั้งต่อเนื่องกันก็ต้องพิจารณาจากวงเงินในการเล่นการพนันทุกครั้งรวมกัน ในประเด็นข้อนี้ ได้ความจากพยานผู้ร้องซึ่งเคยไปเล่นการพนันที่บ่อนการพนันทั้งสามแห่งว่า บ่อนการพนันทั้งสามแห่งจัดให้มีการเล่นการพนันหมุนเวียนกัน เปิดให้เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน มีนักพนันหมุนเวียนกันเข้ามาเล่น บางช่วงเวลาถึงกับต้องรอคิวที่จะเล่น โดยเปิดให้เล่นการพนันประเภทไพ่ป๊อกบ่อนละประมาณ 2 ถึง 5 โต๊ะ มีตั้งแต่โต๊ะที่เปิดให้เล่นในราคา 50 บาท 100 บาท 200 บาท 500 บาท 1,000 บาท และ 2,000 บาท หากมีผู้เล่นจำนวนมากก็จะเปิดโต๊ะพนันเพิ่ม ส่วนวิธีการเล่นได้ความจากนางมาริสาพยานผู้ร้องว่า แต่ละคนจะมีชิปและป้ายวงกลมซึ่งระบุหมายเลขของหลุมไว้ คนเล่นจะไปประจำยังหลุมหมายเลขที่ตนเองได้รับ จะเก็บเงินเมื่อเปิดไพ่แล้ว มีเจ้ามือเรียกว่าแม่ไก่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนเล่นซึ่งแต่ละโต๊ะจะมี 5 ถึง 6 คน แจกไพ่ให้คนละ 2 ใบ 25 คน แจกไพ่เสร็จหงายไพ่เลย ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ต่อตา ผู้เล่นสามารถแทงกับเจ้ามือกี่คนก็ได้ หากเลือกแทงกับเจ้ามือหลายคนก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ผู้เล่นแทงได้คนละ 2 มือ เช่น มีเจ้ามือ 10 คน แทงคนละ 100 บาท ต้องใช้เงิน 1,000 บาท ถ้าเล่น 2 มือ ต้องใช้เงิน 2,000 บาท ต่อตา ในการเล่นแต่ละตาหากเป็นโต๊ะ 100 บาท จะมีเงินสะพัดประมาณ 10,000 บาท หากโต๊ะใหญ่ขึ้นจะมีเงินสะพัดประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ประกอบกับได้ความว่าทางบ่อนยังรับจำนำทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เข้าเล่นที่เสียการพนันจนหมดเพื่อนำเงินไปเล่นต่อ โดยในวันเข้าตรวจค้นเจ้าพนักงานสามารถยึดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่รับจำนำได้ถึง 63 ดอก แสดงว่าบ่อนทั้งสามแห่งมีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังได้ความจากนางธนธิปหรือธันยพรพยานผู้ร้องว่า พยานเป็นหนี้การพนันค้างชำระผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนมาก จึงนำที่ดินโฉนดเลขที่ 217 และ 147840 ถึง 147842 รวมสี่แปลงพร้อมอาคารสี่ชั้น รวมเป็นเงินประมาณ 26,000,000 บาท ตีราคาใช้หนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 217 เป็นแปลงแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 เพื่อชำระหนี้การพนัน 7,000,000 บาท ส่วนที่ดินสามแปลงที่เหลือยอมให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวม และต่อมาเมื่อหนี้การพนันของพยานเพิ่มขึ้น ผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้พยานจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของพยานให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางธนธิปหรือธันยพรจริงในราคา 11,000,000 บาท เนื่องจากนางธนธิปหรือธันยพรเป็นหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เกือบ 20,000,000 บาท แต่ไม่มีเงินผ่อนชำระหนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงนำเงินไปชำระหนี้แทนจนได้ที่ดินทั้งสี่แปลง เห็นว่า หากนางธนธิปหรือธันยพรขายที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยวิธีให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแทนตนจริง นางธนธิปหรือธันยพรย่อมต้องจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในวันเดียวกับวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง แต่ตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดิน ปรากฏว่านางธนธิปหรือธันยพรจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสี่แปลงจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกันเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 แต่ในวันเดียวกันนั้นนางธนธิปหรือธันยพรจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 217 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแปลงเดียว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 147840 ถึง 147842 นางธนธิปหรือธันยพรเพียงแต่จดทะเบียนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับตนโดยไม่มีค่าตอบแทน จากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงเฉพาะส่วนของตนไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และวันที่ 12 ตุลาคม 2550 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงชำระหนี้จำนองดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 แต่สอดคล้องกับที่นางธนธิปหรือธันยพรเบิกความข้างต้นและที่เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านทั้งสามถามค้านว่า การจำนองดังกล่าวไม่ได้รับเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 ทำให้น่าเชื่อว่านางธนธิปหรือธันยพรโอนที่ดินทั้งสี่แปลงพร้อมอาคารสี่ชั้นซึ่งมีราคารวมประมาณ 26,000,000 บาท ใช้หนี้การพนันแก่ผู้คัดค้านที่ 1 จริง แต่เมื่อนางธนธิปหรือธันยพรเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านทั้งสามถามค้านยอมรับว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ให้เงินไปไถ่ถอนจำนอง 11,000,000 บาท จึงเป็นการตีราคาใช้หนี้การพนันเพียงประมาณ 15,000,000 บาท คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นมาตรการทางแพ่ง การพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดมูลฐานต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องหาจำต้องนำสืบถึงขนาดให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยเหมือนดังเช่นคดีอาญาไม่ เมื่อพิจารณาจำนวนหนี้การพนันของนางธนธิปหรือธันยพรที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบพฤติการณ์ที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งเป็นบ่อนการพนันที่มีวงเงินในการเล่นการพนันมีมูลค่าสูงและเปิดให้เล่นการพนันต่อเนื่องกันมาหลายครั้งเป็นเวลานานหลายปีดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันที่สถานที่ตรวจค้นทั้งสามแห่งโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (9) ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้างมาในฎีกาเพราะเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ทรัพย์สินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาไม่ได้อนุญาตให้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน และพิพากษาให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


จำนวนผู้เข้าชม 3,262