คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๕/๒๕๖๖

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง
นาย ส. กับพวกผู้คัดค้าน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50, 51


ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

___________________________

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51

ผู้คัดค้านทั้งสี่ ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 4 รายการ พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้าและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ ออกขายทอดตลาด แล้วให้หักเงินจำนวน 365,267.22 บาท และ 850,368.06 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองและที่คู่ความทุกฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ลักลอบค้าสัตว์ป่า (ตัวนิ่ม) โดยเป็นเครือข่ายเกี่ยวข้องกับนายสุริยชัยหรือถัง ซึ่งเป็นนายทุนลักลอบค้าไม้พะยูงและลักลอบค้าสัตว์ป่า (ตัวนิ่ม) โดยทำหน้าที่จัดหาตัวนิ่มและรถยนต์บรรทุกตัวนิ่ม และได้ใช้บัญชีของบุคคลอื่นในการโอนเงิน รับโอนเงิน เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตรวจยึดทรัพย์สินได้ อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง (ตัวนิ่ม) โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อันเป็นความผิดมูลฐานและเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 3 (15) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเป็นกรณีมีหลักฐานเชื่อว่าทรัพย์สินทั้ง 4 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,156,000 บาท พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีมติเห็นชอบให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับแหวนเพชร 2 วง ทรัพย์สินรายการที่ 3 และที่ 4 ยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินทั้งสองรายการดังกล่าวนี้ตกเป็นของแผ่นดิน

คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ขายทอดตลาดรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ แล้วให้หักเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันเป็นเงิน 365,267.22 บาท และ 850,368.06 บาท ตามลำดับ ให้ตกเป็นของแผ่นดินชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์แก่บุคคลทั่วไป และจากผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง (ตัวนิ่ม) ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้ามาชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดเดือนแต่ละเดือนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม แต่กรณีเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อและรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อนั้นไว้โดยสุจริตไม่ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวมาชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อดังกล่าวได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 365,267.22 บาท และ 850,368.06 บาท ตามลำดับ เช่นนี้จึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียวได้ แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 1 รถยนต์ที่ให้เช่าซื้อนั้นมีราคาเงินสดหักเงินดาวน์แล้วผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ใช้เงินลงทุนในการให้เช่าซื้อรถยนต์แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 704,908.41 บาท และ 643,229.91 บาท ตามลำดับ โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไป ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิเรียกเก็บจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้วบางส่วน ในส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิได้รับคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อการเช่าซื้อมีกำหนดระยะเวลาชำระเป็นงวดรายเดือน 72 งวด และ 60 งวด ตามลำดับ และค่าเช่าซื้อในส่วนที่เป็นราคารถยนต์ที่เช่าซื้องวดละ 12,257.94 บาท และ 12,114.95 บาท ตามลำดับ ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 มาแล้ว 18 งวด และ 50 งวด เป็นเงิน 220,642.92 บาท และ 605,747.50 บาท ตามลำดับ คงเหลือเป็นเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิจะได้รับ 484,265.49 บาท 37,482.41 บาท จึงต้องคืนราคารถยนต์ที่ให้เช่าซื้อตามสิทธิของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ที่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้เช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกิน 484,265.49 บาท และ 37,482.41 บาท พร้อมดอกผล ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ที่ให้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้หักเงินจำนวน 365,267.22 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า ตกเป็นของแผ่นดิน ถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา ต้องชำระค่าขึ้นศาล 7,305 บาท แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้คัดค้านที่ 3

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกิน 484,265.49 บาท และ 37,482.41 บาท ตามลำดับ หากมีเงินเหลือพร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 3 เสียเกิน 7,305 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกาให้เป็นพับ


จำนวนผู้เข้าชม 100