ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2565
บัญชีและบัตรเอทีเอ็มเป็นของญาติใกล้ชิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 1 เองก็เคยใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชี จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่ามีการใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มกระทำความผิด โดยเฉพาะก่อนที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติด้วยตัวเอง มีการถอนเงินจากบัญชีหลายวันติดต่อกันทุกวัน และหลังจากจำเลยที่ 1 ถอนเงินแล้วก็ยังมีการถอนเงินในวันรุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันครอบครองบัตรเอทีเอ็มไว้ตลอดเวลาเพื่อถอนเงิน และจำเลยที่ 1 ย่อมรับรู้การกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในการรับโอนเงินและถอนเงินแต่ละครั้งด้วย ไม่ว่าพวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถอนเงิน หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้พวกของจำเลยที่ 1 ถอนเงิน พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการรับโอนเงินและถอนเงินทุกครั้งโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดทุกกระทงตามฟ้อง
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5, 9, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโอนคดีจำเลยที่ 3 ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี รวม 69 กระทง เป็นจำคุก 69 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 8 เดือน รวม 69 กระทง เป็นจำคุก 552 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 368 เดือน แต่ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (2) (3), 9 วรรคสอง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน กับฐานร่วมกันฟอกเงิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 1.24 ข้อ 1.42 และข้อ 1.69 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้ออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายโจว เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงคำ ชื่อบัญชี นางไป่โล ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 บัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงคำ ชื่อบัญชี นายจิรายุทธ์ ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงคำ ชื่อบัญชี นายโจว ต่อมาคนร้ายใช้บัญชีเงินฝากทั้งสามดังกล่าวรับโอนเงินค่าซื้อขายยาเสพติด และใช้บัตรเอทีเอ็ม ที่ผูกติดกับบัญชีเงินฝากทั้งสามถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากข้างต้นผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติหลายครั้ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายโจวผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ รวม 3 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 รู้หรือควรรู้ว่าเงินที่ถอนออกไปนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้นเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามฟ้องข้อ 1.1 กับฐานฟอกเงินตามฟ้องข้อ 1.24 ข้อ 1.42 และข้อ 1.69 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา แต่ทำคำแก้ฎีกาโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว ไม่ได้กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานฟอกเงิน ขอให้ยกฟ้อง คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการขอให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา จำเลยที่ 1 ต้องทำเป็นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จะทำเป็นคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้นเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามฟ้องข้อ 1.1 และจำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายโจวที่รับโอนเงินค่ายาเสพติดผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ อันเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามฟ้องข้อ 1.24 ข้อ 1.42 และข้อ 1.69 การถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากที่รับโอนเงินค่ายาเสพติดถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มาหรือครอบครองทรัพย์สินโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน แม้พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีที่รับโอนเงินค่ายาเสพติดผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติตามฟ้องข้อ 1.24 ข้อ 1.42 และข้อ 1.69 รวมเพียง 3 ครั้ง แต่ที่พันตำรวจโทธนา เบิกความว่า พยานจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เขียนคำให้การด้วยตนเองว่าจำเลยที่ 1 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 3 เมื่อ 2 ปี ที่แล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 3 เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและทำบัตรเอทีเอ็ม แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 มอบสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และเป็นน้องภริยาของจำเลยที่ 1 และให้การทันทีที่ถูกจับกุม ซึ่งมีเหตุผลอันหนักแน่นให้เชื่อได้ว่าคำให้การของจำเลยที่ 3 เป็นความจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรเอทีเอ็มมอบให้จำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ขอ เช่นเดียวกับนายโจวญาติของจำเลยที่ 1 ซึ่งหลบหนี จากนั้นมีการรับโอนเงินเข้าบัญชีและใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีตลอดเวลาเรื่อยมา เมื่อบัญชีและบัตรเอทีเอ็มเป็นของญาติใกล้ชิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 1 เองก็เคยใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชีจำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่ามีการใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มกระทำความผิด โดยเฉพาะปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติด้วยตัวเองตามฟ้องข้อ 1.24 ในวันที่ 26 มกราคม 2560 จากบัญชีจำเลยที่ 2 รวม 10 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท ตามฟ้องข้อ 1.42 ในวันเดียวกัน จากบัญชีจำเลยที่ 3 รวม 9 ครั้งเป็นเงิน 199,000 บาท และตามฟ้องข้อ 1.69 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 จากบัญชีนายโจว รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท นั้น มีการถอนเงินจากทุกบัญชีดังกล่าวหลายวันติดต่อกันทุกวัน และหลังจากจำเลยที่ 1 ถอนเงินแล้วก็ยังมีการถอนเงินในวันรุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันครอบครองบัตรเอทีเอ็มไว้ตลอดเวลาเพื่อถอนเงิน และจำเลยที่ 1 ย่อมรับรู้การกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในการรับโอนเงินและถอนเงินแต่ละครั้งด้วย ไม่ว่าพวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถอนเงิน หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้พวกของจำเลยที่ 1 ถอนเงินพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการรับโอนเงินและถอนเงินทุกครั้งตามฟ้องโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดทุกกระทงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่เฉพาะที่จำเลยที่ 1 ถอนเงินด้วยตนเอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดอื่นนอกจากความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ข้อ 1.24 ข้อ 1.42 และข้อ 1.69 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยที่ 2 มอบบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มที่ผูกติดกับบัญชีเงินฝากดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นการซื้อขายยาเสพติด หรือรู้เห็นการจ่ายเงินค่าซื้อขายยาเสพติดโดยโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นแม่ยายของจำเลยที่ 1 จึงอาจเปิดบัญชีเงินฝากและมอบบัตรเอทีเอ็มแก่จำเลยที่ 1 เพราะเกรงใจและเชื่อใจจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกเขยว่าจะไม่นำไปใช้กระทำความผิดก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 รู้หรือควรรู้ว่าเปิดบัญชีเงินฝากและมอบบัตรเอทีเอ็มแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับโอนเงินค่าซื้อขายยาเสพติดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (2) (3), 9 วรรคสอง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน กับฐานร่วมกันฟอกเงิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี รวม 69 กระทง เป็นจำคุก 69 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์