คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๒๓/๒๕๖๕
(พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พันตรีหญิง นางนาฎยา มุตตามระ กับพวก ผู้คัดค้าน)
วิธีพิจารณาความแพ่ง อุทธรณ์ฎีกา ข้อกำหนดฎีกา (ม.๒๔๗)
ข้อกำหนดฎีกา (ม.๒๕๐)
พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๕๒ (ม.๓, ม.๔๙, ม.๕๑)
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษ เพียงแต่หากปรากฎว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพงที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เป็นมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนสุจริตทั่วไป จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่ทรัพย์สินซึ่งผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับได้ เช่นนี้แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓(๑๘) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ในภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานนี้ย่อมตกอยู่ภายให้บังคับย้อนหลังไปทันทีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานอันบัญญัติเพิ่มเติมได้
คณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายมีมติเห็นชอบให้ ศ. ขายทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายรวมถึงที่ดินเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เสียหายอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูจฐานย่อมไม่อาจมีมติให้เงินที่เหลือจากการขายทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายตกเป็นของ ศ. ซึ่งเป็นจำเลยได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญับัติให้ในกรณีที่ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกียวกับการกระทำความผิดได้ ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว และวรรคหกในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกัน และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว ไม่มีกรณีที่ทรัพย์สินจะกลับไปตกได้แก่จำเลยหรือผู้กระทำความผิดอีก และเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐
เงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ นำไปซื้อห้องชุด ๘๔ ห้อง เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๓ ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาของ ศ. กับพวกที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ดังนี้ ต้องคืนห้องชุด ๘๔ ห้องแก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ วรรคหก ไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง
คำร้องขออนุญาตฎีกาของผู้คัดค้านที่ และที่ ๒ ไม่ได้ระบุถึงประเด็นปัญหาที่ขออนุญาตฎีกาประเด็นนี้ไว้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๘ ข้อ ๖ (๑) และ (๒) (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ ๒ ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ ประสงค์จะขออนุญาตฎีกาในประเด็นปัญหาดังกล่าวและได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย